top of page

ประวัติหน่วยวิชาโรคไต

          ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2504 หัวหน้าภาควิชาท่านแรก คือ ท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ชาญ สภาปณกุล และได้มีการก่อตั้งหน่วยวิชาโรคไต และต่อมไร้ท่อ โดยมีท่าน รศ.นพ.มุนี แก้วปลั่ง เป็นหัวหน้าหน่วยวิชา ในปี พ.ศ.2508

          ปี พ.ศ. 2515 อ.พญ.นพรัตน์ เปรมัษเฐียร (ตู้จินดา) ได้ย้ายมาจาก สาขาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลสาขาวิชาโรคไต ในหน่วยวิชาโรคไต และต่อมไร้ท่อ (อ.พญ.นพรัตน์ เปรมัษเธียร ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ. 2520)

          ปี พ.ศ. 2518 รศ.นพ.มุนี แก้วปลั่ง ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้เชิญ ศ.กิตติคุณ นพ.วิศิษฎ์ สิตปรีชา มาเป็นอาจารย์พิเศษมาช่วยสอนวิชาโรคไตแก่แพทย์ประจำบ้าน และนักศึกษาแพทย์ ซึ่งได้มาสอนอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 – 2562 

          ปี พ.ศ. 2523 ภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้รับอาจารย์ (ศ.เกียรติคุณ) นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล เข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาและได้รับมอบหมายให้ดูแล สาขาวิชาโรคไต ซึ่งต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เดินทางกลับมาในปี พ.ศ. 2527 จึงได้มีการแยกออกมาตั้งเป็นหน่วยวิชาโรคไต ของภาควิชาอายุรศาสตร์ และได้มีการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทั้งในเรื่องการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ รวมทั้งมีการพัฒนาการในสาขาวิชาโรคไต ดูแลรักษาวิจัยในผู้ป่วยโรคไตของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เรื่อยมา โดยมี ผศ.นพ.หนึ่ง เอกมหาชัย ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในหน่วยวิชา ตั้งแต่ พ.ศ. 2526 และ อ.นพ.ดิเรก บรรณจักร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2535

          หน่วยวิชาโรคไต ได้เริ่มให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอนุสาขาอายุรศาสตร์โรคไตของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และแพทยสภา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นรุ่นแรก   นอกจากนี้ยังได้ร่วมงานกับงานการพยาบาลอายุรศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการฝึกอบรมพยาบาลไตเทียมซึ่งต่อมาได้พัฒนาร่วมกับจนเป็นหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติการบำบัดทดแทนไต ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการล้างไตทางช่องท้อง ของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสภาการพยาบาลจนถึงปัจจุบัน

          ด้านวิชาการ หน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกับ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ในจัดการประชุมวิชาการในระดับชาติ และนานาชาติ จนมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ จากที่เริ่มจัดการประชุมด้าน Dialysis ในปี พ.ศ. 2536 เป็น Dialysis, Apheresis and Vascular Access (DAVA) โดยได้จัดทุกๆ 3 ปี ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Renal Diseases & Biotechnology for Blood Purification (RB) ในปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน

          ด้านการรักษา ได้พัฒนาให้มีการรักษาผู้ป่วยโรคไตวาย ด้วยการทำ Dialysis ทั้ง hemodialysis และ peritoneal dialysis จาก acute dialysis ได้เริ่มทำใน ICU อายุรศาสตร์ และห้องไตเทียม เริ่มที่ชั้น 5 ตึกบุญสม มาร์ติน ต่อมาเมื่อมีการเปิดใช้ตึกสุจิณโณ ก็ได้ย้ายมาให้บริการที่ชั้น 2 ตึกสุจิณโณ โดยแยกการรักษา เป็นห้องไตเทียมฉุกเฉิน (acute hemodialysis)  และห้องเปลี่ยนไตและไตเทียม (chronic hemodialysis)  ส่วนการรักษาใน ICU อายุรกรรม มี acute peritoneal dialysis   และเริ่มมีการทำ CRRT (Continuous renal replacement therapy) โดยเริ่มแรกทำเป็น CAVH (Continuous arteriovenous hemofiltration) และได้พัฒนาเป็น CVVH: (Continuous Venovenous Hemofiltration) รวมถึง apheresis ทุกรูปแบบ   ในด้าน Chronic ambulatory peritoneal dialysis  (CAPD) ได้มีการเริ่มทำในราวปี พ.ศ. 2536   และได้เข้าร่วมโครงการนำร่อง CAPD first policy ของ สปสช หรือบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรคตั้งแต่ต้น  นอกจากนี้ยังร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ สาขาศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ เริ่มทำการปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation) รายแรกของภาคเหนือ ใน ปี พ.ศ. 2531  และร่วมกับสาขาศัลยศาสตร์หลอดเลือดในการทำ Vascular access สำหรับ long term hemodialysis  

          ในปี พ.ศ. 2547 หน่วยวิชาโรคไตได้รับการจัดสรรพื้นที่ที่ชั้น 10 อาคารศรีพัฒน์ สำหรับการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมครบวงจร ทั้งห้องตรวจผู้ป่วยนอกโรคไต ห้องไตเทียมฉุกเฉิน ห้องเปลี่ยนไตและไตเทียม รวมถึง ห้องปฏิบัติการ ห้องหัตถการ และห้องวิจัยของหน่วยวิชา

หัวหน้าหน่วยฯจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

  1. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ มุนี แก้วปลั่ง       พ.ศ. 2508 – 2527 (หน่วยวิชาโรคไต และต่อมไร้ท่อ)

  2. ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดุสิต ล้ำเลิศกุล         พ.ศ. 2527 - 2554

  3. อาจารย์นายแพทย์ ดิเรก บรรณจักร์                พ.ศ. 2554 - 2563

  4. อาจารย์นายแพทย์ วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข    พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน

bottom of page